“ฝันร้ายที่ฮิโรชิมา”
บันทึกจากหมอต่างชาติคนแรกที่ไปถึงพื้นที่หลังเกิดระเบิดปรมาณู
——————————
“ผมได้ยินชื่อเมืองฮิโรชิมาเป็นครั้งแรกพร้อมๆ กับคำว่าระเบิดปรมาณู มีคนบอกว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นน่าจะถึงหนึ่งแสนคน และผู้เสียชีวิตต่างถูกเผาทั้งเป็นโดยรังสีความร้อน”
หมอ มารเซล จูโน ตัวแทนจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ(ICRC) เดินทางจากยุโรปมาถึงโตเกียวในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ.1945 วันเดียวกับที่ระเบิดปรมาณูลูกที่สองถูกทิ้งลงที่นางาซากิ
ระเบิดถูกทิ้งไปแล้วหลายสิบวัน แต่การส่งข่าวคราวเรื่องรายละเอียดความเสียหายต่อการการระเบิดในช่วงนั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน
หมอจูโนจึงใช้เวลาในช่วงแรกที่มาถึงญี่ปุ่นไปกับการเยี่ยมนักโทษสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ถูกขังในญี่ปุ่น
ต่อมาในวันที่ 30 สิงหาคม
ผู้แทนของ ICRC ในพื้นที่ ได้ส่งโทรเลขสั้นๆ มาหาเขา
ซึ่งมันบรรยายความเสียหายอันน่าสะพรึงกลัวของเมืองฮิโรชิมาได้อย่างชัดเจน
“เมืองถูกทำลายเสียหายถึง 80%
โรงพยาบาลทั้งหมดถูกทำลายหรือเสียหายอย่างหนัก
โรงพยายาลฉุกเฉินสองแห่งมีสภาพเกินการบรรยาย “
“และผลกระทบลึกลับของระเบิดทำให้เหยื่อหลายคนที่กำลังฟื้นตัวป่วยเป็นโรคร้ายแรง”
หลังได้รับโทรเลขแจ้งข่าว
หมอจูโนเดินทางไปถึงฮิโรชิมาทันที
ฮิโรชิมาเป็นเมืองสำคัญ เมืองที่มีทั้งท่าเรือ การค้า โรงงานอุตสาหกรรมและที่ตั้งกองทหารรักษาการ
จำนวนประชากรของฮิโรชิมาก่อนเหตุการณ์ทิ้งระเบิดอยู่ที่ราวสี่แสนคน และจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ราวหนึ่งแสนสี่หมื่นคน นั่นคือเสียชีวิตเกินกว่าหนึ่งในสี่ของประชาชนในเมือง
เขามาถึงพื้นที่ระเบิดในวันที่ 8 กันยายน พร้อมกับทีมงานของสหรัฐอเมริกาที่นำอุปกรณ์จำเป็นเข้าไปช่วยเหลือ และพยายามหาคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของระเบิด
และนี่คือส่วนหนึ่งจากบันทึกประสบการณ์ตรงของหมอจูโนเมื่อ 75 ปีก่อน
——————————
“เวลา 12 นาฬิกา เราบินมาถึงฮิโรชิมา เพื่อเห็นความเสียหายแบบที่ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน”
“ใจกลางเมืองถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง
เหลือเพียงพื้นที่ว่างเปล่าสีขาว ไม่มีอะไรเหลือเลย”
“สัญญาณแรกของผลกระทบจากแรงระเบิดสามารถมองเห็นได้ห่างจากจุดทิ้งระเบิดประมาณสี่ไมล์”
“หลังคาของบ้านดูไม่เป็นระเบียบเนื่องจากกระเบื้องของพวกเขาถูกระเบิดออก หญ้าบนพื้นกลายเป็นสีขาวราวกับถูกความร้อนอย่างรุนแรง”
“นักข่าวชาวญี่ปุ่นอธิบายให้ผมฟังว่าพืชผักและข้าวที่ปลูกอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของระเบิดมากถึงห้าหรือหกไมล์ได้สูญเสียสีเขียวไปทันทีหลังจากการระเบิด สีเขียวของต้นข้าวเพิ่งกลับมาหลังผ่านการระเบิดไปแล้ว 3-4 สัปดาห์ ในขณะที่พืชบางชนิดที่อ่อนแอกว่าล้มตายไป”
“สามไมล์จากศูนย์กลางของระเบิด บ้านถูกทำลายจนพังลงเหมือนกระดาษ หลังคาพังทลายลงอย่างสมบูรณ์ นี่คือภาพที่คุ้นเคยของเมืองที่ถูกทำลายด้วยระเบิด”
“สองไมล์ครึ่งจากศูนย์กลางการระเบิด มีเพียงเสาและคานไม้เหลืออยู่ให้เห็น เหมือนว่าบ้านที่สร้างจากหินจะไม่ได้รับความเสียหาย”
“สองไมล์จากศูนย์กลางการระเบิด บ้านทุกหลังถูกไฟไหม้ เหลืออยู่แค่โครงร่างของฐานรากและกองโลหะที่เป็นสนิม บริเวณนี้ดูเหมือนเมืองโตเกียวโอซาก้าและโกเบที่ถูกทำลายโดยระเบิด”
“ในระยะหนึ่งไมล์จากศูนย์กลางการระเบิด สภาพดูแย่มาก ทุกสิ่งเหมือนถูกฉีกทึ้งออกไปราวกับใช้อำนาจเหนือธรรมชาติ ไม่มีบ้านหรือต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว”
คุณหมอจูโนได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมในโรงพยาบาลเพื่อดูสภาพความเป็นจริงทั้งการรักษาและอาการของผู้ป่วยที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนบนโลกใบนี้
“โรงพยาบาลฉุกเฉินถูกตั้งขึ้นในโรงเรียนเก่า หลังคาอาคารเรียนเต็มไปด้วยรูทำให้เม็ดฝนตกลงมาจนเจิ่งนองไปถึงห้องพักของผู้ป่วย”
“ผู้ป่วยที่พอจะมีกำลังอยู่บ้าง พาตัวเองย้ายไปอยู่ในมุมที่มีที่กำบัง ในขณะที่คนอื่นๆ ได้แต่นอนนิ่งคล้ายกำลังรอความตาย”
“มีผู้ป่วยราว 84 คนในโรงพยาบาล พวกเขามีนางพยาบาลเพียง 10 ท่าน เด็กนักเรียนหญิงราว 20 คน อายุราว 12-15 อาสามาให้ความช่วยเหลือ ไม่มีน้ำไม่มีการติดตั้งสุขภัณฑ์ไม่มีห้องครัว”
“คุณหมอจากภายนอกท่านหนึ่งเดินทางมาเยี่ยมผู้ป่วยทุกวัน การดูแลทางการแพทย์สามารถทำได้แค่ขั้นพื้นฐาน เช่นการเปลี่ยนผ้าพันแผล มียาเหลืออยู่เพียงไม่กี่ขวด แผลส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรักษา ไม่มีผ้าพันแผลมากพอ มีแมลงวันนับพันตัวบินอยู่รอบๆ ทุกอย่างสกปรกอย่างไม่น่าเชื่อ”
“ผู้ป่วยหลายรายต้องทนทุกข์ทรมานจากผลของกัมมันตภาพรังสีที่นำไปสู่การตกเลือดหลายครั้ง พวกเขาต้องการการถ่ายเลือด แต่ไม่มีผู้บริจาค ไม่มีแพทย์เพื่อตรวจสอบความเข้ากันได้ของกลุ่มเลือด ดังนั้นจึงไม่มีการรักษา”
“แพทย์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งบอกผมว่ามีผู้ป่วยหลายพันคนถูกนำตัวเข้ามาในวันที่เกิดเหตุ หกร้อยคนเสียชีวิตเกือบจะในทันทีและถูกฝังไว้ในบริเวณใกล้กับโรงพยาบาล”
“ปัจจุบันเหลือผู้ป่วยเพียงสองร้อยคน
ไม่มีการถ่ายเลือดเนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ในการตรวจและผู้บริจาคก็เสียชีวิตหรือหายสาบสูญ”
-หมอ 270 จาก 300 คน เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ
-พยาบาล 1,654 จาก 1,780 คนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ
“มันควรถูกแบนเช่นเดียวกับการใช้แก๊ซพิษในสงครามโลกครั้งที่ 1”
หมอจูโนจบบันทึกนี้
ด้วยการกล่าวย้ำว่าระเบิดเช่นนี้ไม่ควรถูกนำมาใช้อีกต่อไป
——————————
ทำไมเพจถึงมาพูดเรื่องราวเหล่านี้?
เพราะว่าพรุ่งนี้ (22 มกราคม ค.ศ.2021)
จะเป็นวันที่สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์จะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หลังจากมีภาคีให้สัตยาบันไปครบ 50 ประเทศเมื่อปีที่แล้ว
สนธิสัญญานี้เป็นความพยายาม 75 ปี ของการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมีผลมาจากความสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อมีการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเมื่อ 75 ปีที่แล้ว
ซึ่งในปีที่แล้ว สนธิสัญญานี้สามารถเก็บลายเซ็นได้ครบ 50 ประเทศ ทำให้สามารถบังคับใช้ได้จริง
เกิดอะไรขึ้นหลังจากวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป?
รัฐที่ลงนามจะต้องกำจัดอาวุธและไม่ข้องเกี่ยวกับการใช้ พัฒนา ทดลอง ผลิต จัดเก็บในคลัง ติดตั้ง ถ่ายโอน หรือขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์อีก
ทุกอย่างที่เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์จะกลายเป็นสิ่งที่มีกฎหมายควบคุมทันที
แม้ยังเหลืออีกหลายประเทศที่ยังไม่ลงนาม
แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สำหรับโลกที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์อีกต่อไป
จะต้องไม่มีผู้บริสุทธิ์ สูญเสียอีกต่อไป
ขอขอบคุณ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (The International Committee of the Red Cross – ICRC) ที่ให้ข้อมูลทั้งหมดมาเผยแพร่
บทความด้านบนทั้งหมดแปลจากบทความต้นฉบับ
The Hiroshima disaster – a doctor’s account