เนเธอร์แลนด์เกลียดเยอรมนีเข้าไส้ เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สั่งให้ทหารรุกรานเนเธอร์แลนด์อย่างเต็มรูปแบบในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1940
เพียงไม่กี่วันหลังจากถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักที่เมืองรอตเตอร์ดาม กองทัพเนเธอร์แลนด์จึงต้องยอมจำนนแก่เยอรมนีอย่างไม่มีทางเลือก
เมื่อเยอรมนีสามารถยึดครองประเทศเนเธอร์แลนด์ได้แล้ว พวกเขาก็ได้ทิ้งความโหดร้ายฝังใจไว้เป็นความทรงจำอันเลวร้ายแก่ประชาชนเป็นเวลาหลายสิบปี
ไม่เว้นแม้แต่ที่ Riel หมู่บ้านเล็กๆ ในเขตเทศบาลเมือง Goirle ทางตอนใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์
15 สิงหาคม ค.ศ.1942 ชายห้าคนจากหมู่บ้านนี้ ถูกจับมัดไว้กับเสา และถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าโดยทหารเยอรมัน เพื่อแสดงการตอบโต้ต่อการก่อวินาศกรรมทางรถไฟในรอตเตอร์ดัม 7 วันก่อนหน้านั้น โดยกบฏชาวเนเธอร์แลนด์
เยอรมนีไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ จึงใช้วิธีจับตัวประกันที่เป็นประชาชนทั่วไปมาประหารแทน พวกเขาจับชาย 5 คนนี้มา และยิงเป้าในเช้าวันนั้นเลยทันที
สงครามยังคงดำเนินต่อไป ความเกลียดชังของชาวดัตช์ที่มีต่อชาวเยอรมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องราวการสังหารประชาชน ที่สร้างความเกลียดชังฝังลึกลงไปในจิตใจของคนในหมู่บ้าน พวกเขาเกลียดชาวเยอรมันทุกคนไม่ว่าจะเป็นหน้าไหน
————————————————
คาร์ล ไฮนซ์ รอว์ช เด็กหนุ่มชาวเยอรมัน เขาถูกเรียกตัวไปเป็นทหารแวร์มัคท์ด้วยวัยเพียง 17 ปี คาร์ลถูกส่งไปประจำการ ณ เมือง Goirle ประเทศเนเธอร์แลนด์
เขาไม่เคยฆ่าหรือยิงใส่ทหารและพลเรือนคนไหนเลย
เช้าวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1944 เพียงสามวันหลังจากครบรอบวันเกิดเขาในวัย 18 ปี คาร์ลซึ่งกำลังนั่งดื่มกาแฟอยู่ในฟาร์มแห่งหนึ่งนั้นก็ได้ยินเสียงระเบิดขึ้น
มันคือเสียงจากปืนใหญ่ที่ยิงถล่มเข้ามายังจุดที่เขาและทหารคนอื่นประจำอยู่
กองกำลังทหารอังกฤษรุกคืบเข้ามาแล้ว
ทหารเยอรมันต่างตะโกนสั่งให้ทุกคนมารวมพล
คาร์ลมองไปรอบตัว เขาเห็นแจน คิลส์ดอน วัย 4 ขวบ และทูส คิลส์ดอน วัย 5 ขวบ เด็กพี่น้องสองคนซึ่งเป็นลูกของชาวนาในละแวกนี้ เด็กทั้งสองกำลังเล่นอยู่ที่สวนหลังบ้านของตนเองโดยที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวอันใดว่าอันตรายกำลังเข้ามาเยือน
เด็กสองคนนี้อยู่ในระยะที่แรงระเบิดจะเข้ามาถึงได้
คาร์ลไม่วิ่งไปรวมพลตามที่ถูกสั่ง
เขากลับวิ่งไปหาเด็กทั้งสอง อุ้มเอาพวกเขามาซุกไว้ที่ใต้แขนทั้งสองข้างของตนเอง และรีบวิ่งส่งพวกเขาไปยังห้องใต้ดินในบ้านไร่ข้างๆ อย่างปลอดภัย
คาร์ลส่งเด็กๆ เรียบร้อย ทั้งสามคนไม่มีการพูดคุย ไม่มีการจากลากัน คาร์ลทำแค่เพียงยิ้มเบาๆ ให้กับพวกเขา และรีบวิ่งกลับไปยังจุดรวมพล โดยวิ่งตัดมายังลานสวนที่เขาเพิ่งอุ้มเด็กสองคนนั้นออกไป
และทันใดนั้นเอง ปืนใหญ่ก็ได้ยิงลงตรงจุดนั้นพอดี พยานที่เห็นกล่าวว่าร่างของคาร์ลแหลกสลายและกระเด็นออกมาภายในพริบตา คาร์ลเสียชีวิตทันที
ถ้าคาร์ลไม่ได้พาเด็กสองคนนั้นไป เขาก็คงรอดชีวิต
และกลายเป็นแจนและทูสที่เสียชีวิตแทน
ความตายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสงคราม
มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากหลายสิบล้านคน
จะใครมีเวลาไปโศกเศร้ากับการสูญเสียทหารศัตรูชาวเยอรมันคนนี้?
————————————————
สงครามโลกสิ้นสุดลง ทั้งชาวดัตช์และชาวเยอรมันก็ต่างพยายามรื้อฟื้นสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่
ครอบครัวของ คาร์ล ไฮนซ์ รอว์ช รู้ว่าคาร์ลเสียชีวิตที่เมือง Goirle แต่พวกเขาอาศัยอยู่ในเยอรมนีตะวันออก จึงไม่สามารถมีอิสระที่จะมาดูจุดที่ลูกชายตนเองเสียชีวิตได้
วันเวลาผ่านไปหลายปี พ่อของทหารหนุ่มคาร์ลสามารถมาเยี่ยมฟาร์มจุดที่ลูกชายตนเองเสียชีวิตได้แล้ว
เมื่อพ่อของคาร์ลมาถึง ชาวเมืองกลับไม่ค่อยต้อนรับเขาสักเท่าไหร่ ทุกคนรู้ว่าคาร์ลเสียชีวิตจากการสละชีวิตเพื่อช่วยเด็กสองคนที่ไม่เคยรู้จัก แท้จริงแล้วคาร์ลควรได้รับการยกย่องเช่นวีรบุรุษคนอื่น
แต่ชาวบ้านทุกคนกลับปิดปากเงียบ ไม่มีใครบอกพ่อของคาร์ลว่าเขาเสียชีวิตเพราะไปช่วยลูกชาวดัตช์สองคน
ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมือง Goirle มีเพียงการเก็บรักษาเสาที่ชายห้าคนที่ถูกทหารเยอรมันมัดและยิงเป้า
ความเจ็บปวดเกี่ยวกับการยึดครองของชาวเยอรมันและการสังหารประชาชนบริสุทธิ์ เป็นเรื่องที่เจ็บปวดและจดจำง่ายกว่าการมาละทิ้งความเกลียดชังเพียงเพราะการกระทำของศัตรูคนๆ เดียว
พวกเขาต่างจดจำอยู่อย่างเดียว นั่นคือเยอรมนีนำความตายและความหายนะมาสู่บ้านเกิดของพวกเขา
มีเพียงพลเมืองชาวดัตช์สองคน แจน คิลส์ดอน และทูส คิลส์ดอน เด็กในช่วงสงครามผู้มีชีวิตรอดเพราะความช่วยเหลือของคาร์ล
แจนและทูส มีความทรงจำฝังใจเกี่ยวกับทหารเยอรมันต่างจากชาวดัตช์คนอื่นๆ พวกเขาอยากให้มีการรำลึกถึงคาร์ล แต่ในช่วงเวลานั้นเพียงแค่เอ่ยปาก ก็โดนสามารถประนามได้
“เขาเป็นแค่ศัตรู เป็นเพียงชาวเยอรมันน่ารังเกียจ!!!”
แวน รูเดนวา สมาชิกสภาเมือง กล่าวตำหนิดุด่าหลังจากที่พวกเขาพยายามให้มีการรื้อฟื้นเรื่องราวของคาร์ลขึ้นมา
————————————————
วันเวลาผ่านไป 60 ปี คริสต์ศตวรรษที่ 21 กลับกลายเป็นยุคแห่งการลบเลือนและละทิ้งความคิดแบบเกลียดชังของชาวดัตช์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
สายลมแห่งความทรงจำในอดีตหวนคืนกลับมาสู่ชายชราคนหนึ่งอีกครั้ง
แวน รูเดนวา อดีตสมาชิกสภาเมือง เขาหวนนึกถึงเรื่องราวของวีรบุรุษผู้ที่เขาเป็นส่วนหนึ่งในการกลบฝังความทรงจำเกี่ยวกับเขา
แวนรู้สึกสำนึกผิด เขาต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้คาร์ลต้องถูกลบเลือนไปอย่างถาวร หมดจากยุคของเขาไปคงไม่มีใครได้รับรู้เรื่องราวนี้อีกแล้ว
แวนลองไปคุยกับชาวบ้านคนอื่นๆ ปรากฏว่าทุกคนกลับเห็นด้วยว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรกลับมาให้เกียรติแก่ชายคนนี้ คำว่าศัตรูไม่มีอีกแล้วต่อไป
แวนและชาวบ้าน ช่วยกันรวบรวมเงินและประชาสัมพันธ์เพื่อขอรับเงินบริจาค เพื่อสร้างรูปปั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คาร์ล
ไม่มีอีกแล้ววิธีคิดแบบขาว – ดำ ที่ว่าชาวดัตช์ทั้งหมดในช่วงสงครามนั้นดี และชาวเยอรมันก็เป็นพวกนาซีโหดร้ายทั้งหมด
แต่เพื่อความสมดุล พวกเขาต้องสร้างอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงชาย 5 คน ถูกชาวเยอรมันสังหารด้วย โดยจะวางไว้ข้างเสาที่พวกเขาถูกมัดและประหาร ซึ่งเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของเมือง
ส่วนรูปปั้นของคาร์ลนั้น สร้างเสร็จเรียบร้อยในปีค.ศ.2008 แต่พวกเขากลับไม่มีที่วาง ชาวบ้านต่างกลัวว่าจะกลายเป็นสัญลักษณ์ให้พวกนีโอนาซี มาปักหลักกันตรงรูปปั้น
ลีโอ เวอร์เมอร์ ชาวบ้านในเมือง Goirle อาสาให้รูปปั้นของคาร์ล มาวางที่สวนหน้าบ้านของเขาเอง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่คาร์ลได้ช่วยเหลือเด็กๆ เอาไว้
จากนั้นตรงมุมถนนของ Dorpstraat และ Beatrixstraat ก็กลายเป็นจุดวางรูปปั้นอยู่ตรงหน้าสวนในบ้านหลังหนึ่ง
รูปปั้นของทหารแวร์มัคท์ ที่แขนทั้งสองข้างกำลังอุ้มเด็กตัวเล็กๆ สองคนไว้ใต้แขน
คาร์ล ไฮนซ์ รอว์ช แสดงความเป็นวีรบุรุษและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยไม่สนใจว่าเขาใส่เครื่องแบบไหนหรือกำลังทำหน้าที่อันใดอยู่
แม้ว่าพ่อแม่และปู่ย่าของคาร์ลจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่สมาชิกที่เหลืออยู่ของคาร์ล ก็ถูกเรียนเชิญมาในพิธีเปิด
แจนและทูส คิลส์ดอน จึงได้มีโอกาสเล่าถึงเรื่องราวที่ทำให้พวกเขามีชีวิตจนถึงทุกวันนี้แก่ครอบครัวของคาร์ลเป็นครั้งแรกเสียที
ประโยคหนึ่งบนแผ่นป้ายบนอนุสรณ์ของ คาร์ล ไฮนซ์ รอว์ช เขียนเอาไว้ว่า
“รูปปั้นนี้เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ทุกคน
ที่ทำดีในช่วงเวลาที่ชั่วร้าย”