“โมลนูพิราเวียร์” ยาเม็ดตัวแรกของโลก ที่ต้านไวรัสโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์

ข่าวล่าสุด

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา การปรากฏตัวของ  “ยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir)” โดย  “บริษัทเมอร์ค แอนด์ โค”  และ  “ริดจ์แบค ไบโอเทอราพิวติกส์”  สองผู้ผลิตยาสัญชาติอเมริกัน ถือเป็นข่าวดีสำหรับชาวโลกที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยมีการสำแดงสรรพคุณว่า มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา นอกจากนี้ ยังสามารถลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตลงได้มากถึง 50% สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง

ที่บอกว่า เป็น “ข่าวดี” ก็เพราะที่ผ่านมายังไม่มียาที่ใช้สำหรับรักษาโควิด-19 เป็นการเฉพาะและมีผลการทดลองดำเนินไปในทิศทางที่ดีชนิดที่สามารถนำมาใช้งานในเร็ววัน เพียงแต่นำเอายาต้านไวรัสหรือยาชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้เท่านั้น เช่น ฟาวิพิราเวียร์ แรมเดซิเวียร์ ฯลฯ รวมถึงยาฆ่าพยาธิอย่าง   “ไอเวอร์เม็กติน”(Ivermectin) ที่หลายประเทศนำมาใช้

ทั้งนี้ เมอร์คฯ และริดจ์แบคฯ เตรียมยื่นขอการอนุมัติใช้งานฉุกเฉินจากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) โดยเร็วที่สุด ซึ่งจะทำให้โมลนูพิราเวียร์เป็นยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดตัวแรกของโลกที่ได้รับอนุญาตใช้งานในสหรัฐอเมริกา และจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับหลายๆ ประเทศที่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ของญี่ปุ่นอยู่ในตอนนี้

 อาเมช อาดาลจา  ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เพื่อความมั่นคงสุขภาพจอห์นฮอปกินส์ ระบุว่า ยาต้านไวรัสชนิดรับประทานที่สามารถลดความเสี่ยงนอนโรงพยาบาลลงได้ถึงครึ่งถือว่าเป็น “ตัวพลิกเกม”  เนื่องจากยารักษาโควิด-19 ที่ใช้กันในปัจจุบัน เช่น เรมเดซิเวียร์ (remdesivir) และเดกซาเมธาโซน (Dexamathasone) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ จะให้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลแล้ว

 – ยานี้ทำงานอย่างไร? 
โมลนูพิราเวียร์จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ viral polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่จำเป็นสำหรับการคัดลอกตัวเองของเชื้อไวรัส โดยจะทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสผิดพลาดจนไม่สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้

 เจย์ โกรเบลอร์ หัวหน้าฝ่ายโรคติดเชื้อและวัคซีนของเมอร์ค ระบุว่า กลไกการทำงานของยาโมลนูพิราเวียร์แตกต่างจากวัคซีนโควิด-19 ทั่วๆ ไป เนื่องจากไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่ “โปรตีนหนาม” ซึ่งเป็นตัวแบ่งแยกสายพันธุ์ของไวรัส ดังนั้นจึงสามารถให้ผลในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้อย่างครอบคลุมแม้จะมีการกลายพันธุ์ก็ตาม

 – ประสิทธิภาพของ ‘โมลนูพิราเวียร์’ 
ผลการทดลองระยะที่ 3 ในกลุ่มอาสาสมัคร 775 คนที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์วันละ 2 เวลา ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 วัน มีเพียง 7.3% ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลภายใน 29 วัน และไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (placebo) มีอัตราการป่วยเข้าโรงพยาบาลอยู่ที่ 14.1% และมีผู้เสียชีวิต 8 คน

แม้จะเป็นการทดลองในอาสาสมัครกลุ่มเล็ก แต่ผลการทดลองซึ่งบ่งชี้ประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจก็ทำให้ผู้ตรวจสอบอิสระและสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) เสนอให้ทางบริษัทยุติการทดลอง และเริ่มกระบวนการขออนุมัติใช้งานได้ทันที

เมอร์ค แถลงเมื่อเดือน ก.ย. ว่า จากผลวิจัยเบื้องต้นพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์สามารถต่อต้านไวรัสโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์เดลตา, แกมมา และมิว

 – แตกต่างจากยาชนิดอื่นอย่างไร? 
การรักษาด้วยยาเรมเดซิเวียร์ และโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibodies) จะใช้วิธีฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งส่วนใหญ่มักทำที่โรงพยาบาลหรือคลินิก จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากผู้ป่วย

ข้อดีของยาโมลนูพิราเวียร์ก็คือ เป็นยาเม็ดที่ผู้ป่วยสามารถรับประทานเองที่บ้านได้ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนที่ถูกกว่า โดยมีรายงานจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สว่า สนนราคายา 1 ชุดสำหรับ 5 วันอยู่ที่ประมาณ 700 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 23,600 บาท) หรือเพียง 1 ใน 3 ของการรักษาด้วยโมโนโคนอลแอนติบอดี

แม้จะยับยั้งอาการป่วยถึงขั้นนอนโรงพยาบาลได้เพียง 50% ซึ่งยังต่ำกว่าโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ลดความเสี่ยงป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ถึง 85% แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโมลนูพิราเวียร์จะใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้างกว่า เนื่องจากยาเม็ดนั้นสามารถเข้าถึงได้ง่าย และช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสผู้ป่วย

 – ขนาดรับประทาน 
สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อย-ปานกลางจะได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ 1 ชุด ซึ่งประกอบด้วยยาเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัมจำนวน 40 เม็ด รับประทานครั้งละ 4 เม็ด (800 มิลลิกรัม) ทุกๆ 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน
จากการทดลองพบว่า ยาให้ผลดีหากรับประทานภายใน 5 วันหลังเริ่มแสดงอาการ แต่จะมีประสิทธิภาพลดลงในผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการรุนแรงแล้ว

 –  ผลข้างเคียง 
จากผลการทดลองเบื้องต้นพบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์มีผลข้างเคียงต่ำ โดยมีอาสาสมัครที่เข้าร่วมทดลองเพียง 1.3% ที่ขอยุติการรักษาเนื่องจากพบอาการไม่พึงประสงค์ เทียบกับสัดส่วน 3.4% ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ทว่าผู้เชี่ยวชาญยังไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์

 – หลายชาติแห่สั่งจอง 
แม้จะอยู่ระหว่างรอ FDA อนุมัติ ทว่าหลายประเทศไม่รอช้า เริ่มเจรจากับ เมอร์ค เพื่อสั่งจองยาโมลนูพิราเวียร์กันแต่เนิ่นๆ

รัฐบาลสหรัฐฯ ทำข้อตกลงกับ เมอร์ค ตั้งแต่เดือน มิ.ย. เพื่อสั่งจองโมลนูพิราเวียร์จำนวน 1.7 ล้านชุด รวมมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ออสเตรเลียและเกาหลีใต้แจ้งความประสงค์สั่งซื้อแล้ว 300,000 และ 20,000 ชุด ตามลำดับ

มีรายงานว่าสิงคโปร์, มาเลเซีย และไต้หวัน ก็อยู่ระหว่างเจรจาสั่งซื้อยาตัวใหม่นี้เช่นกัน

สำหรับประเทศไทย คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วกระทรวงสาธารณสุขไทยให้ความสนใจกับยาตัวนี้หรือไม่ อย่างไร เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนว่า มุ่งหน้าไปที่ “ฟาวิพิราเวียร์” เป็นสำคัญ

  “นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า สธ. ได้หารือรายละเอียดกับทางเมิร์คประเทศไทย ตั้งแต่เดือน ก.ค. พร้อมเปิดเผยไทม์ไลน์สำหรับการนำเข้าโมลนูพิราเวียร์ในไทย ดังนี้

ก.ค.-ส.ค. กรมการแพทย์หารือกับ MSD (บริษัทลูกของเมิร์ค) เกี่ยวกับข้อมูลยาและการวิจัย

ส.ค.-ก.ย. กรมการแพทย์หารือกับ MSD เกี่ยวกับการจัดหาและจัดซื้อยา

ก.ย.-ต.ค. กรมการแพทย์หารือกับ MSD เกี่ยวกับสัญญาซื้อ-ขาย โดยทางกรมได้จัดทำร่างหนังสือสัญญาซื้อขายจำนวน 40 หน้าเสร็จเรียบร้อยเมื่อ 5 ต.ค.

ต.ค.-พ.ย. ประมาณการว่าโมลนูพิราเวียร์จะผ่านการขึ้นทะเบียนจาก FDA ของสหรัฐฯ

พ.ย.-ธ.ค. ประมาณการว่าโมลนูพิราเวียร์จะผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. ไทย

ธ.ค.-ม.ค. 2565 คาดว่าในไทยจะได้รับยาโมลนูพิราเวียร์มาใช้ต้านไวรัสจำนวน 200,000 ชุด

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้ร่วมกับเมิร์คในการศึกษาวิจัยการใช้ยาต้านโควิดโมลนูพิราเวียร์ในไทยผ่าน รพ. 5 แห่ง ซึ่ง รพ.ราชวิถี ในสังกัดกรมการแพทย์จะเป็นโรงพยาบาลอีกแห่งที่ได้รับการวิจัยในครั้งนี้ แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คาดว่าจะได้เริ่มศึกษาได้ภายใน ธ.ค. นี้

ส่วนราคาจัดซื้อยาของแต่ละประเทศจะไม่เท่ากัน ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางจะได้ราคาถูกกว่าประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีรายได้สูง ขณะเดียวกันไทยก็อาจจะซื้อแพงกว่าประเทศที่รายได้ต่ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นนโยบายของบริษัทที่ต้องการกระจายยาต้านโควิดไปในหลายพื้นที่อย่างเป็นธรรม

“นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ที่โพสต์ข้อความเอาไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งสรุปสั้นๆ ได้ว่า “เมื่อไหร่ที่ประเทศไทยได้ยาโมลนูพิราเวียร์จากประเทศอินเดีย เราควรเลิกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ทันที เพราะยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพเหนือกว่าแน่นอน”

ทั้งนี้ เมอร์ค คาดว่าจะสามารถผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ได้ประมาณ 10 ล้านชุดภายในสิ้นปี 2021 และมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกในปี 2022 ขณะเดียวกันทางบริษัทยังได้ทำข้อตกลงร่วมกับผู้ผลิตยาหลายเจ้าใน “อินเดีย” โดยหวังใช้เป็นฐานการผลิตโมลนูพิราเวียร์ราคาถูกสำหรับใช้ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง ทันทีที่ยาชนิดนี้ผ่านการอนุมัติรับรอง

 หลายบริษัทเดินหน้าผลิตยา
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า “โมลนูพิราเวียร์” เป็นเพียงแค่หนึ่งในยาที่บรรดาบริษัทยาชั้นนำของโลกกำลังทดลองและเร่งผลิตออกมา เพราะมีหลายบริษัทที่คิดค้นเช่นกัน เช่น เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา  “บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า”  เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ยื่นเรื่องต่อหน่วยงานกำกับดูแลด้านสาธารณสุขของสหรัฐเพื่อขออนุมัติใช้ยาเม็ด  “AZD7442” ในกรณีฉุกเฉิน โดยยาดังกล่าวเป็นการรักษาด้วยแอนติบอดีเพื่อป้องกันอาการรุนแรงของโรคโควิด-19 และสามารถลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงลงได้ถึง 77% ในการทดลองระยะสุดท้าย นอกจากนี้ ยังสามารถลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตลงได้มากถึง 50% สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19

หรือ  “บริษัทไฟเซอร์ อิงค์”  ที่เริ่มการทดลองยา PF-07321332 ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ในรูปของยาเม็ด ในกลุ่มอาสาสมัครที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด และมีการให้ “ยาริโทนาเวียร์ ร่วมในการทดลองด้วย ซึ่งโครงการทดลองกำลังอยู่ในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 และคาดว่าจะยื่นขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

ตัวถัดมาก็คือ “โซโทรวิแมบ” ที่บริษัทแกล็กโซ สมิทธไคลน์ หรือ GSK ของอังกฤษ และบริษัทวีไออาร์ ไบโอเทคโนโลยี ของสหรัฐอเมริกา ยานี้ให้ผ่านสายเข้าสู่หลอดเลือด คุณสมบัติของยาจะลอกเลียนแบบสารภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นสำหรับต่อต้านกับการติดเชื้อต่างๆ ในกรณีนี้ยาจะเลียนแบบสารภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในร่างกายเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ข้อจำกัดการใช้ยาคือ ใช้ในผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีอาการปานกลาง แต่เป็นผู้ป่วยที่มีแนวโน้มอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น แต่ห้ามใช้กับผู้ป่วยโควิดที่อาการหนัก หรือผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ

นอกจากนี้ยัง  “บริษัท โรช เอจี”  ของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ร่วมมือกับ  “เอที ฟาร์มาซูติคอล” ในการพัฒนายาเม็ดด้วยอีกบริษัท ซึ่งก่อนหน้านี้เคยออกแถลงว่า  “ยารหัส AT-527”  ได้แสดงผลในการทดลองเบื้องต้นว่า สามารถลดปริมาณไวรัสในตัวผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลได้

ทั้งนี้ ถ้าตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทยก็ต้องบอกว่า ยาหลักที่ใช้ก็คือ “ฟาวิพิราเวียร์” หรือ “อาวิแกน” ของประเทศญี่ปุ่น และได้สั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากก่อนที่ “องค์การเภสัชกรรม(อภ.)” จะตั้งโรงงานผลิตขึ้นในประเทศไทยเอง ทว่า สิ่งที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือแม้หลายประเทศจะใช้ แต่ไม่อยู่ในบัญชียาที่ได้รับการรับรองของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น โดยยา 4 ชนิดที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในญี่ปุ่น ได้แก่ 1. เรมเดซิเวียร์ 2. เดกซาเมทาโซน 3.บาริซิทินิบ และ 4. ค็อกเทลแอนติบอดี ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับยาสร้างสารภูมิต้านทาน 2 ชนิดร่วมกัน ได้แก่ ยาคาซิริวิแมบ และ อิมเดวิแมบ

อย่างไรก็ดี ยารักษาโควิดที่กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นรับรองให้ใช้รักษาผู้ป่วยได้นั้น ทั้งหมดไม่ใช่ยาสำหรับโรคโควิด-19 โดยตรง แต่นำยาสำหรับโรคอื่นมาประยุกต์ใช้เพื่อยับยั้งการขยายตัวของเชื้อไวรัส และป้องกันไม่ให้เชื้อลงปอด ไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดหนักลง และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะค่อย ๆ กำจัดเชื้อไวรัส จนผู้ป่วยฟื้นตัวได้

กระนั้นก็ดี บริษัทยาสัญชาติญี่ปุ่นก็กำลังเร่งทดลองยาสำหรับโควิด-19 เป็นการเฉพาะด้วย โดย  “ชิโอโนกิ” เริ่มทดลองทางระยะที่ 1 ไปเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา และเตรียมทดลองทางคลินิกแบบกลุ่มใหญ่ก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อให้ทันตามเป้าหมายที่จะนำยาตัวนี้ออกวางจำหน่ายในปี 2565 ไปในทิศทางเดียวกับ   “ชูไก” บริษัทในเครือของโรช ที่ซื้อสิทธิ์การพัฒนาและทำตลาดยาต้านไวรัสโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่น มาจากบริษัทแม่ ซึ่งตั้งเป้าให้ยาของตนพร้อมวางจำหน่ายทั่วโลกภายในปี 2565 เช่นกัน

ขณะเดียวกัน คาดว่านอกจากญี่ปุ่นจะเป็นผู้พัฒนาและผลิตยาแล้ว ยังจะเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับยารักษาโรคโควิด-19 อีกด้วย เนื่องจากระบบอนุญาตให้ใช้ยาและการรักษาแบบฉุกเฉินโดยไม่ต้องผ่านการรับของหน่วยงานอาหารและยาของญี่ปุ่นนั้น มีฟาสต์แทร็กสำหรับยาและการรักษาที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอื่น ๆ โดยจะใช้เวลาตรวจสอบเพียง 2 เดือน

ดังนั้น หากองค์การอาหารและยาของสหรัฐ หรือเอฟดีเอ อนุญาตให้ใช้ยาต้านไวรัสของเมอร์ค หรือไฟเซอร์ ภายในสิ้นปีนี้ ยาดังกล่าวจะสามารถจำหน่ายและใช้งานภายในญี่ปุ่นตามไปด้วย ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี 2565

ส่วนประเทศจีนก็มีรายงานเช่นกันว่า  “ซิโนฟาร์ม” (Sinopharm)  บริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่จีนเผยกำลังเร่งพัฒนายารักษาโควิด-19 สำหรับผู้มีอาการไม่รุนแรงรวม 2 ชนิด โดย   “นายจาง อวิ๋นเทา”  รองประธานและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ China National Biotech Group (CNBG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท Sinopharm เปิดเผยว่า ยาดังกล่าวเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ตัวแรกของโลก ที่สร้างจากอิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ของมนุษย์ โดยพัฒนาจากพลาสมาจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่หายแล้ว สำหรับยาอีกขนานหนึ่งพัฒนาขึ้นจากโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ซึ่งมีศักยภาพในการต่อต้านสายพันธุ์เดลต้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัส

ทั้งนี้ ยาดังกล่าวได้รับการเปิดตัวครั้งแรกในงานมหกรรมการค้าภาคบริการนานาชาติแห่งประเทศจีน (China International Fair for Trade in Services: CIFTIS) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

 – วัคซีนยังจำเป็นอยู่หรือไม่? 
ผู้เชี่ยวชาญออกมาย้ำชัดเจนว่า  “วัคซีนยังคงเป็นวิธีป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด”  แต่เนื่องจากหลายประเทศมีผู้ติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง แม้จะฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่แล้วก็ตาม ดังนั้นการรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัสจึงมีส่วนช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่อาการรุนแรงลงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วการป้องกันตนเองไม่ให้ติดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นด้วยการรักษาสุขอนามัย, สวมหน้ากาก และเว้นระยะห่างทางสังคม ก็ยังคงมีความจำเป็น เพื่อที่จะลดการแพร่เชื้อและทำให้โรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ยุติลงได้

เครดิต https:// www.mgronline.com/daily/detail/9640000099999